“โดเมน” สารพัดภาษา โอกาสของผู้อยากท่องเน็ต

คอลัมน์ Cilck World
วงการอินเทอร์เน็ตกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 40 ปี เมื่อชื่อสกุล (โดเมนเนม) กำลังจะถูกเขียนได้หลากหลายภาษามากขึ้น นอกเหนือจากภาษาละตินแบบเดิม ๆ
โดย Icann องค์กรที่ควบคุมและดูแลการจดโดเมนเนมทั่วโลก ล่าสุดได้อนุมัติแผนให้สกุลโดเมนเนมสามารถถูกเขียนด้วยตัวอักษรภาษาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่อักษรภาษาละติน (อักษร A-Z) ได้ เช่น ภาษาแมนดาริน ฮินดี กรีก อารบิก หลังจากที่ Icann ใช้เวลามากกว่า 9 ปีในการพัฒนา และอีก 2 ปีสำหรับการทดสอบระบบ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของโลกออนไลน์
นั่นหมายความว่า ประชากรจำนวนมากในโลกที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ไม่ได้ใช้ตัวอักษรภาษาละตินเป็นพื้นฐานในการสื่อสาร สามารถที่จะพิมพ์สกุลได้ด้วยภาษาของตัวเองและเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ และยังเป็นการแก้ปัญหาการเขียนด้วยตัวอักษรที่ไม่คุ้นเคยของผู้ใช้งาน
แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสกุลทั่วไป เช่น .com, .org หรือ .net ยังไม่เปิดให้บริการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะถัดออกไปอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้
"รอค เบคสโตรม" ประธานของ Icann กล่าวในงานประชุมของ Icann ณ เกาหลีใต้ว่า ผู้ที่ต้องการเปิดโดเมนใหม่นี้ Icann จะเริ่มรับลงทะเบียนช่วงกลางเดือน พ.ย. และอาจจะเริ่มใช้งานได้ช่วงกลางปี 2010 โดยจะคิดค่าบริการสำหรับผู้ให้ข้อมูล ดูแลฐานข้อมูล และให้บริการฐานข้อมูล (registry) มูลค่า 2.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าธรรมเนียม พร้อมกับ คิดส่วนแบ่ง 1-3% ของรายได้ registry ในแต่ละปีด้วย
เขายังกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1.6 พันล้านคนในปัจจุบัน มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ภาษาละตินเป็นพื้นฐาน และตนเชื่อว่าถึงท้ายสุดแล้วนั้นจะมีเว็บต่าง ๆ ที่ใช้ตัวอักษรจำนวนกว่า 100,000 อักษรของภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกปรากฏบนเว็บไซต์ ซึ่งยัง ไม่สามารถใช้ได้ในระบบปัจจุบัน
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการเปิดบริการใหม่นี้ คือ หากองค์กรใดเป็นองค์กรระดับโลก สามารถใช้สกุล .com กับสำนักงานใหญ่ได้ แต่หากมีสาขากระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็สามารถที่จะใช้ภาษาประจำชาตินั้นในการสื่อสารได้ เช่น หากต้องการเข้าสู่เว็บ intel.com โปรแกรมจะพาเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ที่เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ แต่หากเปลี่ยนสกุลเป็นภาษาญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลี สามารถที่จะพาผู้ใช้งาน ไปสู่เว็บไซต์ภาษาเหล่านั้นได้ทันที
สอดคล้องกับ "เลสลี่ คาวเลย์"ผู้บริหารระดับสูงจาก Nominet องค์กรดูแลด้านการจดโดเมนในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ยังมีคนจำนวนกว่า 5 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่เคยเข้าถึงโลกออนไลน์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาละตินในการเขียน ดังนั้นการอนุญาตให้สามารถเขียนสกุลด้วยภาษาอื่น ๆ ได้จะช่วยให้คนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งสามารถ เข้าถึงเว็บได้ง่ายขึ้น และช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าสู่โลกออนไลน์
ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการขยายตัวมากขึ้น เว็บไซต์เป็นที่รู้และจดจำได้ง่ายขึ้น สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่อิสรภาพของ การเชื่อมต่อระหว่างคอมมิวนิตี้ระดับโลก เข้าไว้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานของ "Internationalised Domain Names" (IDNs) เปิดเผยว่า คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะถูกแปรรหัสในรูปของตัวเลข กระบวนการนี้เรียกว่า "โดเมนเนมเซิร์ฟเวอร์" เช่น เว็บไซต์ guardian.co.uk จะถูกแปรเป็น 77.91.248.30 เพื่อการจำแนกแยกแยะได้ แต่ปัญหาคือ หากเป็นตัวอักษรที่ไม่ใช่ภาษาละติน เช่น ตัวอักษรภาษาจีน จำเป็นที่จะต้องมีซอฟต์แวร์พิเศษเพื่อจัดการแปรรหัสดังกล่าวด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเพิ่มรหัสที่มากขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตสูงมากขึ้นตามมา โดยเฉพาะเว็บไซต์ปลอมอาจจะใช้ภาษาต่าง ๆ เพื่อที่จะหลอกลวงผู้ใช้งานได้
"โนร่า นานายาคคาร่า" ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจบริษัท Sedo ผู้ขายโดเมนเนม อธิบายว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างชื่อเว็บและสกุลที่คล้ายกัน อาจจะเป็นโอกาสอันดีของอาชญากรบนโลกไซเบอร์ที่ต้องการหาประโยชน์จากผู้ใช้งานเว็บ
ดังนั้น ประเด็นด้านความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง